วันพุธที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2552

{MBAY12/2} Low cost airline

ช่วยๆกันตอบนะ พี่น้อง

 

สายการบินต้นทุนต่ำเผชิญวิกฤตน้ำมัน ... ปรับกลยุทธ์เพื่อให้อยู่รอด   

 

ปัจจุบันอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกต้องเผชิญผลกระทบอย่างหนักจากแนวโน้มราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น

โดยขณะนี้ต้นทุนเชื้อเพลิงมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นไปถึงประมาณร้อยละ 50-60 ของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน

ของสายการบินต่างๆ จากเดิมอยู่ที่ประมาณร้อยละ 30-40 เท่านั้น ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการ

ทำกำไรของสายการบิน และถือได้ว่าเป็นวิกฤตที่ร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่เหตุการณ์ 9/11 เมื่อปี 2544

และการระบาดของโรค SARS เมื่อปี 2546 ซึ่งสายการบินต่างๆ จำเป็นต้องเร่งปรับตัว อย่างไรก็ตาม

สายการบินต้นทุนต่ำ (Low Cost Airlines) อาจจะเผชิญวิกฤตที่ยากลำบากต่อการปรับตัว

เนื่องจากมีข้อจำกัดในด้านการตั้งราคา การบริการ และกลุ่มลูกค้า ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ได้ทำการวิเคราะห์ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและแนวทางในการปรับตัวของสายการบินต้นทุนต่ำ

โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

 

สถานการณ์ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ... ปัจจัยฉุดการเติบโต

 

แนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยได้ทำสถิติสูงสุดในประวัติศาสตร์ไปแตะที่ระดับสูงกว่า 139 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่งผลให้ราคาน้ำมันเครื่องบิน (Jet Fuel) ปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย โดยขณะนี้เพิ่มสูงขึ้นไปกว่า 168 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขยายตัวจากปีก่อนมากกว่าร้อยละ 90 การปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกนั้นมาจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นความต้องการบริโภคที่เพิ่มสูงขึ้นของประเทศเศรษฐกิจใหม่ เช่น จีน อินเดีย เป็นต้น ความกังวลของตลาดต่อสถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง และการหันมาเก็งกำไรในตลาดน้ำมันของกองทุนต่างๆ ในภาวะที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลง ทั้งนี้ มีการวิเคราะห์ว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีโอกาสที่จะเพิ่มขึ้นไปสู่ระดับ 150 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ภายในปีนี้ หากตลาดยังมีความกังวลต่ออุปทานน้ำมันในอนาคต รวมทั้งการเก็งกำไรของกองทุนต่างๆ ยังคงมีอยู่

 

จากแนวโน้มราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรมการบินของโลก เนื่องจากน้ำมันถือเป็นต้นทุนสำคัญในการดำเนินงานของสายการบินต่างๆ ดังจะเห็นได้จากผลการขาดทุนของหลายสายการบินที่ไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนน้ำมันได้ ทำให้เกิดการขายกิจการหรือการควบรวมกิจการระหว่างสายการบินทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา โดย IATA (International Air Transport Association) ได้คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมการบินของโลกในปี 2551 จะขาดทุนประมาณ 2.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หากราคาน้ำมันดิบ Brent อยู่ที่ระดับ 106.5 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล นับเป็นการกลับมาขาดทุนอีกครั้งหลังจากที่ปี 2550 มีผลกำไรกว่า 5.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ IATA ยังคาดว่ายอดขาดทุนในปีนี้อาจเพิ่มสูงถึง 6.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หากราคาน้ำมันดิบ Brent เพิ่มสูงขึ้นไปกว่า 135 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งสายการบินต่างๆ จำเป็นต้องเร่งปรับกลยุทธ์เพื่อรับมือกับวิกฤตการณ์ดังกล่าว

 

สายการบินต้นทุนต่ำ ... เผชิญปัญหาต้นทุนสูง แต่มีข้อจำกัดในการปรับตัว

 

สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมการบินของไทยก็ได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลกเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ส่งผลให้ต้นทุนในการดำเนินงานเพิ่มสูงขึ้น ทำให้สายการบินต่างๆ จำเป็นต้องทยอยปรับขึ้นค่าธรรมเนียมน้ำมันมาตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งตามมาด้วยราคาตั๋วโดยสารที่เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ในกรณีของสายการบินรูปแบบปกติมีโอกาสที่จะปรับตัวด้วยการแข่งขันการให้บริการที่มีคุณภาพสูงขึ้น โดยเฉพาะการดึงดูดตลาด Premium ซึ่งมีกำลังซื้อสูงและเป็นตลาดที่มีความอ่อนไหวต่อราคาน้อยกว่า โดยมักจะเลือกใช้สายการบินจากคุณภาพของการให้บริการ แต่ในกรณีของสายการบินต้นทุนต่ำมีข้อจำกัดในการปรับตัวในลักษณะดังกล่าว เนื่องจากมีจุดแข็งของธุรกิจอยู่ที่การตั้งราคาตั๋วโดยสารที่ไม่สูง และมีกลุ่มเป้าหมายเป็นตลาดผู้โดยสารที่ให้ความสำคัญกับราคามากกว่าบริการ ซึ่งเมื่อต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้สายการบินต้นทุนต่ำจำเป็นต้องปรับขึ้นค่าธรรมเนียมน้ำมันภายใต้ข้อจำกัดที่ไม่ต้องการให้ราคาตั๋วโดยสารสุทธิ*เพิ่มสูงมากจนเกินไป เนื่องจากอาจทำให้ลูกค้าหันไปเดินทางในรูปแบบอื่นแทน ส่วนการปรับตัวเพื่อลดต้นทุนนั้น โดยทั่วไปสายการบินต้นทุนต่ำก็พยายามบริหารต้นทุนในการดำเนินงานให้อยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดที่สามารถรองรับการให้บริการได้ตามมาตรฐานการบินสากล ซึ่งต่ำกว่าสายการบินปกติประมาณร้อยละ 30-40 อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาสายการบินต้นทุนต่ำได้พยายามทำการปรับตัวในรูปแบบต่างๆ เพื่อลดผลกระทบจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น อาทิเช่น

 

 การปรับเที่ยวบินให้สอดคล้องกับจำนวนผู้โดยสาร โดยสารการบินต้นทุนต่ำได้มีการปรับลดจำนวนเที่ยวบินในเส้นทางที่มีผู้โดยสารน้อย และเพิ่มจำนวนเที่ยวบินในเส้นทางที่มีผู้โดยสารมาก รวมทั้งมีการยกเลิกเส้นทางที่มีผู้โดยสารโดยเฉลี่ยไม่คุ้มกับต้นทุนในการดำเนินการ

 

 การขยายเส้นทางการบินใหม่ๆ เพื่อขยายตลาดและกลุ่มลูกค้าให้กว้างขึ้น ทั้งตลาดนักท่องเที่ยวราคาประหยัดและตลาดนักธุรกิจ SMEs ที่มีการเดินทางติดต่อธุรกิจระหว่างประเทศ เช่น ฮานอย โฮจิมินห์ พนมเปญ จาการ์ตา เซบู เซิ่นเจิ้น เป็นต้น

 

 การจัดเก็บค่าธรรมเนียมสัมภาระแทนการปรับขึ้นค่าธรรมเนียมน้ำมัน ซึ่งแนวทางนี้อาจนับได้ว่าเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่สามารถรักษาระดับอัตราค่าโดยสารพื้นฐานไม่ให้ต้องปรับเพิ่มขึ้นมากและอาจช่วยรักษาฐานลูกค้าไว้ได้ เนื่องจากสร้างความเป็นธรรมให้กับลูกค้า โดยลูกค้าที่มีสัมภาระมากก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้นตามไปด้วย ขณะที่ลูกค้าก็จะสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการจัดเตรียมสัมภาระสำหรับการเดินทางหากไม่ต้องการเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ในอนาคตสายการบินอาจพัฒนาแนวทางข้างต้นมาใช้ในกลยุทธ์การตั้งราคา โดยอาจกำหนดค่าตั๋วโดยสารพื้นฐานไว้ในระดับต่ำ และคิดค่าบริการต่างๆ เพิ่มเติม เช่น ค่าธรรมเนียมสัมภาระ ค่าบริการเช็คอินล่วงหน้า ค่าจองที่นั่ง ค่าอาหาร เป็นต้น ซึ่งลูกค้าที่ต้องการบริการเพิ่มเติมก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ส่วนลูกค้าที่ไม่ต้องการบริการอื่นใดก็ไม่ต้องเสียค่าบริการเพิ่ม

 

 การจัดทำแพ็คเก็จการท่องเที่ยวราคาประหยัด โดยสายการบินต้นทุนต่ำได้ร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจในการจัดทำแพ็คเก็จตั๋วโดยสารและที่พักในราคาประหยัด เพื่อดึงดูดให้ลูกค้าสนใจมากขึ้น เช่น แพ็คเก็จในเส้นทางกรุงเทพฯ - สิงคโปร์ 3 วัน 2 คืน ราคาประมาณ 5,999 บาท เป็นต้น และสายการบินต้นทุนต่ำยังมีการจัดโปรโมชั่นอื่นๆ อีก เช่น ร่วมกับบัตรเครดิตจัดโปรโมชั่นซื้อ 1 แถม 1 การทำบัตรสมาชิกของสายการบินเพื่อนำไปเป็นส่วนลดค่าโดยสาร เป็นต้น นอกจากนี้ สายการบินอาจขยายแนวทางในการจัดทำบัตรสมาชิกรายปี โดยอาจคิดเป็นค่าตั๋วโดยสารแบบเหมาจ่ายรายปี เพื่อดึงดูดลูกค้าใหม่ๆ และรักษาฐานลูกค้าเก่าไว้ โดยเฉพาะลูกค้าที่มีการเดินทางเป็นประจำตลอดปี

 

 การขยายช่องทางในการชำระเงินค่าตั๋วโดยสารให้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น เช่น ร้านสะดวกซื้อ ตู้ ATM อินเทอร์เน็ต โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น ซึ่งทำให้ลูกค้าได้รับความสะดวกและลดต้นทุนในการชำระเงินลง ตลอดจนยังช่วยสร้างภาพลักษณ์ในการเป็นองค์กรสมัยใหม่ที่นำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินงานด้วย

 

นอกจากปัญหาต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นแล้ว ธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำยังเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้นทั้งจากสายการบินต้นทุนต่ำด้วยกันเองและสายการบินปกติ โดยเฉพาะเส้นทางท่องเที่ยวสำคัญ เช่น กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ กรุงเทพฯ - ภูเก็ต กรุงเทพฯ - สิงคโปร์ เป็นต้น ซึ่งเส้นทางเหล่านี้มีจำนวนเที่ยวบินโดยเฉลี่ยมากกว่า 100 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ มีสายการบินที่ให้บริการไม่ตำกว่า 5 สายการบิน ทั้งสายการบินปกติและสายการบินต้นทุนต่ำ สะท้อนให้เห็นถึงภาวะการแข่งขันที่สูงในตลาด โดยที่ผ่านมาสายการบินต้นทุนต่ำได้แข่งขันกันจัดโปรโมชั่นตั๋วโดยสารราคาประหยัดทั้งเส้นทางภายในประเทศและระหว่างประเทศ รวมทั้งแข่งขันกันสร้างภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัยในการเดินทาง ส่วนสายการบินปกติก็ได้เริ่มจัดโปรโมชั่นตั๋วโดยสารราคาประหยัด แต่เน้นบริการที่เหนือกว่าสายการบินต้นทุนต่ำ เพื่อรักษากลุ่มลูกค้าราคาประหยัดไว้ ทั้งนี้ ปัจจุบันมีสายการบินต้นทุนต่ำของไทยประมาณ 3 สายการบิน และของต่างประเทศประมาณ 6 สายการบิน มีส่วนแบ่งในตลาดการบินโดยรวมของไทยประมาณร้อยละ 15

 

 แนวโน้มปี 2551จำนวนผู้โดยสารเติบโตในอัตราที่ชะลอลง ขณะที่ต้นทุนยังคงเพิ่มขึ้น

สำหรับแนวโน้มตลาดสายการบินต้นทุนต่ำในปี 2551 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าจำนวนผู้โดยสารน่าจะเติบโตในอัตราที่ชะลอลงจากปีก่อน โดยคาดว่าจะมีจำนวนผู้โดยสารประมาณ 10 ล้านคน ขณะที่ขยายตัวประมาณร้อยละ 15 เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ที่มีจำนวนประมาณ 8.5 ล้านคน และขยายตัวประมาณร้อยละ 20 โดยมีแรงขับเคลื่อนสำคัญจากจำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากการแข่งขันในด้านราคา การขยายเส้นทางการบินที่ครอบคลุมภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีนตอนใต้มากขึ้น ค่าเงินบาทที่มีค่าเฉลี่ยทั้งปียังคงแข็งค่าเมื่อเทียบกับปีก่อนช่วยกระตุ้นให้คนไทยมีโอกาสเดินทางไปท่องเที่ยวในต่างประเทศมากขึ้น แผนการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของภาครัฐในการดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ๆ การขยายตลาดท่องเที่ยวไปสู่ตลาดภูมิภาคมากขึ้น และการมุ่งให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการท่องเที่ยวในกลุ่ม GMS (Greater Mekong Sub-Region) รวมทั้งในภาวะที่ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้นอาจมีผู้โดยสารส่วนหนึ่งของสายการบินปกติหันมาให้ความสำคัญกับราคามากกว่าบริการเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์การเมืองที่มีความไม่แน่นอนเพิ่มสูงขึ้น อาจส่งผลต่อจำนวนนักท่องเที่ยวและนักลงทุนจากต่างประเทศที่อาจชะลอการเดินทางเพื่อรอดูสถานการณ์ ส่วนจำนวนผู้โดยสารภายในประเทศคาดว่าจะเติบโตจากปีก่อนไม่มากนัก เนื่องจากต้องเผชิญปัจจัยลบจากภาวะค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคต้องระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ส่งผลให้อาจลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวลงหรือเลือกที่จะเดินทางโดยพาหนะอื่นแทนการเดินทางโดยเครื่องบิน ถึงแม้จะมีสายการบินต้นทุนต่ำเป็นทางเลือก แต่ก็คาดว่าผู้บริโภคจะพิจารณาค่าใช้จ่ายอย่างรอบคอบมากที่สุด

 

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่ามีประเด็นเพิ่มเติมที่ควรจับตามองในอนาคต ได้แก่

 การแข่งขันกันดำเนินกลยุทธ์ราคาและค่าธรรมเนียมของสายการบินต้นทุนต่ำ ภายใต้เงื่อนไขที่จะไม่ทำให้ราคาเพิ่มสูงมากเกินไป ขณะที่ต้นทุนน้ำมันยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

 

 การเข้ามาของสายการบินต้นทุนต่ำของเอกชนจากต่างชาติ เช่น อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย เป็นต้น รวมทั้งการจัดตั้งสายการบินต้นทุนต่ำของสายการบินประจำชาติต่างๆ เพื่อลงมาแข่งในตลาดระดับล่าง ซึ่งคาดว่าจะทำให้การแข่งขันในตลาดสายการบินต้นทุนต่ำรุนแรงมากยิ่งขึ้น

 

 การขยายเส้นทางการบินไปยังเมืองใหม่ๆ ทั้งตลาดท่องเที่ยวและตลาดธุรกิจ เช่น บาหลี ฮ่องกง กวางเจา คุนหมิง ดาร์ก้า กัลกัตต้า เป็นต้น รวมทั้งการเปิดให้บริการเส้นทางการบินระยะไกลข้ามทวีป (Long Haul) เช่น โตเกียว ซิดนีย์ ลอนดอน ปารีส เป็นต้น ซึ่งอาจทำให้เกิดการรวมกลุ่มเป็นพันธมิตรทางการบินระหว่างสายการบินต้นทุนต่ำในแต่ละทวีปได้ โดยมีเป้าหมายเพื่อขยายเส้นทางการบินให้ไกลขึ้นและครอบคลุมในหลายภูมิภาคภายใต้ตั๋วโดยสารราคาประหยัด อย่างไรก็ตาม สายการบินอาจต้องชะลอแผนการข้างต้นหากสถานการณ์ราคาน้ำมันยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

 การขยายธุรกิจของสายการบินต้นทุนต่ำไปสู่รูปแบบธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกัน เช่น โรงแรม/ รีสอร์ทราคาประหยัด ทัวร์ราคาประหยัด บริการโฆษณาบนเครื่องบิน เป็นต้น เพื่อกระจายความเสี่ยงและแสวงหารายได้เพิ่มขึ้น โดยอาศัยความได้เปรียบจากการมีฐานลูกค้าหลักอยู่แล้ว

 

 ความชัดเจนของนโยบายและแผนการขยายท่าอากาศยานในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะแผนการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารสายการบินต้นทุนต่ำ (Low Cost Terminal) ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หรือการกำหนดให้ท่าอากาศยานดอนเมืองเป็นท่าอากาศยานสำหรับสายการบินต้นทุนต่ำ ซึ่งจะส่งผลต่อความได้เปรียบเสียเปรียบในธุรกิจสายการบินเป็นอย่างมาก โดยภาครัฐคงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

 

 

สรุปและข้อคิดเห็น

 

แนวโน้มราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบินอย่างรุนแรง โดย IATA ได้คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมการบินของโลกในปี 2551 จะขาดทุนประมาณ 2.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และอาจขาดทุนสูงถึง 6.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หากราคาน้ำมันดิบ Brent เพิ่มสูงขึ้นไปกว่า 135 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันทำให้สายการบินต่างๆ จำเป็นต้องปรับขึ้นค่าธรรมเนียมน้ำมัน ซึ่งจะส่งผลให้ตั๋วโดยสารมีราคาสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งในกรณีของสายการบินรูปแบบปกติมีโอกาสที่จะปรับตัวด้วยการแข่งขันการให้บริการที่มีคุณภาพสูงขึ้น โดยเฉพาะการดึงดูดตลาด Premium ซึ่งมีกำลังซื้อสูงและเป็นตลาดที่มีความอ่อนไหวต่อราคาน้อยกว่า แต่ในกรณีของสายการบินต้นทุนต่ำมีข้อจำกัดในการปรับตัวในลักษณะดังกล่าว เนื่องจากมีจุดแข็งของธุรกิจอยู่ที่การตั้งราคาตั๋วโดยสารที่ไม่สูง และมีกลุ่มเป้าหมายเป็นตลาดผู้โดยสารที่ให้ความสำคัญกับราคามากกว่าบริการ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาสายการบินต้นทุนต่ำได้พยายามทำการปรับตัวในรูปแบบต่างๆ เพื่อลดผลกระทบจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น เช่น การปรับเที่ยวบินให้สอดคล้องกับจำนวนผู้โดยสาร การขยายเส้นทางการบินใหม่ๆ การจัดเก็บค่าธรรมเนียมสัมภาระแทนการปรับขึ้นค่าธรรมเนียมน้ำมัน การทำแพ็คเก็จการท่องเที่ยวราคาประหยัด เป็นต้น นอกจากนี้ สายการบินต้นทุนต่ำยังเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้นทั้งจากสายการบินต้นทุนต่ำด้วยกันเองและสายการบินปกติ โดยเฉพาะการแข่งขันกันจัดโปรโมชั่นตั๋วโดยสารราคาประหยัด

 

สำหรับแนวโน้มตลาดสายการบินต้นทุนต่ำในปี 2551 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าจำนวนผู้โดยสารน่าจะเติบโตในอัตราที่ชะลอลงจากปีก่อน โดยคาดว่าจะมีจำนวนผู้โดยสารประมาณ 10 ล้านคน ขณะที่ขยายตัวประมาณร้อยละ 15 เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ที่มีจำนวนประมาณ 8.5 ล้านคน และขยายตัวประมาณร้อยละ 20 โดยมีแรงขับเคลื่อนสำคัญจากผู้โดยสารระหว่างประเทศที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น จากการแข่งขันในด้านราคา รวมทั้งการขยายเส้นทางการบิน ส่วนจำนวนผู้โดยสารภายในประเทศคาดว่าจะเติบโตไม่มากนัก เนื่องจากต้องเผชิญปัจจัยลบจากภาวะค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น

 

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่ายังมีประเด็นเพิ่มเติมที่ควรจับตา ซึ่งอาจส่งผลต่อธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำในอนาคต ได้แก่ การดำเนินกลยุทธ์ราคาและค่าธรรมเนียม การเข้ามาของคู่แข่งรายใหม่จากในและต่างประเทศ การขยายเส้นทางการบินและการเปิดให้บริการเส้นทางการบินระยะไกลข้ามทวีป การขยายธุรกิจของสายการบินต้นทุนต่ำไปสู่รูปแบบธุรกิจอื่นๆ และความชัดเจนของนโยบายและแผนการขยายท่าอากาศยานในกรุงเทพฯ

 

 

 

ShareThis

Reference : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, บจก

 


--~--~---------~--~----~------------~-------~--~----~
คุณเป็นสมาชิกกลุ่ม Google Groups กลุ่ม "MBAY12/2"
หากต้องการโพสต์ถึงกลุ่มนี้ ส่งอีเมลไปที่: mbay12@googlegroups.com มันจะส่งต่อถึงเพื่อนๆทุกคนโดยอัตโนมัติ
หากต้องการยกเลิกการเป็นสมาชิก: mbay12+unsubscribe@googlegroups.com
Group: http://groups.google.co.th/group/mbay12
BLOG: http://gscy12.blogspot.com/
-~----------~----~----~----~------~----~------~--~---

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น