วันพุธที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2552

{MBAY12/2} ที่มาของคำว่า "คว่ำบาตร"

ที่มาของคำว่า "คว่ำบาตร"
 

"คว่ำบาตร" พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ได้นิยามว่า "(สำ) ก. ไม่ยอมคบค้าสมาคมด้วย, เดิมหมายถึงสังฆกรรมที่พระสงฆ์ประกาศลงโทษคฤหัสถ์ผู้ประทุษร้ายต่อศาสนาด้วย การไม่คบ ไม่รับบิณฑบาต เป็นต้น."

ส่วน "หงายบาตร" พจนานุกรมฯ ได้นิยามว่า "(สำ) น. สังฆกรรมที่คณะสงฆ์ประกาศยกโทษให้แก่คฤหัสถ์ที่เคยถูกประกาศคว่ำบาตรมาแล้ว ด้วยการยอมรับบิณฑบาตเหมือนเดิม."

โดยที่มานั้น ได้พบว่าในพระไตรปิฎกมีเรื่องการคว่ำบาตรเรื่องหนึ่ง ดังนี้

เจ้าวัฑฒลิจฉวี เป็นเพื่อนกับพระเมตติยะและพระภุมมชกะ วันหนึ่ง เจ้าวัฑฒลิจฉวีได้ไปหาหาพระทั้งสอง ครั้นนมัสการถึง ๓ ครั้ง พระทั้งสองก็ไม่ยอมพูดคุยด้วย เจ้าวัฑฒลิจฉวีจึงถามว่าตนเองผิดอะไรจึงไม่ยอมพูดด้วย พระทั้งสองได้กล่าวว่า ท่านทั้งสองได้ถูกพระทัพพมัลลบุตรเบียดเบียน แต่ท่านกลับไม่ช่วยอะไรเลย เจ้าวัฑฒลิจฉวีจึงถามว่าจะให้ช่วยอะไร ท่านทั้งสองได้บอกว่าต้องการให้พระทัพพมัลลบุตรสึก จากนั้นได้แนะนำให้เจ้าวัฑฒลิจฉวีไปกราบทูลพระพุทธเจ้าว่า ภรรยาถูกพระทัพพมัลลบุตรทำมิดีมิร้าย

เจ้าวัฑฒลิจฉวีได้ไปกราบทูลพระ พุทธองค์ตามที่ท่านทั้งสองแนะนำ พระพุทธองค์รับสั่งให้ประชุมสงฆ์และทรงสอบถามพระทัพพมัลลบุตรว่าได้ทำตามที่ เจ้าวัฑฒลิจฉวีกล่าวหาหรือไม่

พระทัพพมัลลบุตรได้กราบทูลพระพุทธองค์ว่า "พระองค์ผู้เจริญ ตั้งแต่เกิดมา ข้าพระพุทธเจ้าไม่รู้จักการเสพเมถุนธรรมแม้ในความฝัน ไม่จำต้องกล่าวถึงเมื่อตอนตื่นอยู่"

จากนั้น พระพุทธองค์ทรงรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า "ถ้าเช่นนั้น สงฆ์จงคว่ำบาตรเจ้าวัฑฒลิจฉวี คือ ห้ามสมโภคกับสงฆ์" และทรงแสดงถึงเหตุแห่งการคว่ำบาตรว่ามี 8 ประการ ได้แก่

  1. ขวนขวายเพื่อมิใช่ลาภแก่สงฆ์
  2. ขวนขวายเพื่อมิใช่ประโยชน์แก่สงฆ์
  3. ขวนขวายเพื่อให้พระอยู่ไม่ได้
  4. ด่าว่าเปรียบเปรยภิกษุทั้งหลาย
  5. ยุยงให้สงฆ์แตกกัน
  6. ตำหนิติเตียนพระพุทธเจ้า
  7. ตำหนิติเตียนพระธรรม
  8. ตำหนิติเตียนพระสงฆ์
ฆราวาส ผู้ใดมีพฤติกรรมดังกล่าว พระสงฆ์จะประชุมกันแล้วประกาศไม่ให้ภิกษุทั้งหลายคบค้าสมาคมด้วย การคว่ำบาตรในทางพระวินัยไม่ได้หมายถึงการคว่ำบาตรลง แต่หมายถึงการไม่รับบิณฑบาต ไม่รับนิมนต์ ไม่รับเครื่องใช้ อาหารหวานคาวที่บุคคลผู้นั้นนำมาถวาย แต่หากต่อมาคนผู้นั้นสำนึกรู้สึกตน กลับมาประพฤติดี คณะสงฆ์ก็จะประกาศเลิก "คว่ำบาตร" ยอมให้ภิกษุทั้งหลายคบค้าสมาคมรับบิณฑบาต รับนิมนต์ รับเครื่องถวายไทยธรรมได้ เรียกว่า "หงายบาตร" เป็นสำนวนคู่กัน

ดัง นั้นการคว่ำและหงายบาตรจึงถือเป็นการลงโทษทางจารีตแบบหนึ่ง ที่พระสงฆ์ได้นิยมถือปฏิบัติสืบมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล เพื่อประโยชน์ในการตักเตือนและความอยู่โดยปกติสุขระหว่างพระสงฆ์และพุทธ ศาสนิกชน


Windows Live: Make it easier for your friends to see what you’re up to on Facebook.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น