วันศุกร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2554

{MBAY12/2} อย่าไปเลย . . . . เชียงคาน . . . จะบอกให้

Posted by SunnyMan , ผู้อ่าน : 314 , 14:32:49 น.  
หมวด : กล้อง/ถ่ายภาพ

พิมพ์หน้านี้
โหวต 1 คน

สวัสดีตอนบ่ายครับ

เอ็นทรีนี้ ขอลงเป็นเอ็นทรีที่ 2 ของวันนี้นะครับ สืบเนื่องจากได้รับ forward email จากน้องที่ออฟฟิต ซึ่งปกติผมมักจะอ่านคราวๆ แล้วก็ผ่านเลยไป

เช้าวันใหม่ที่เชียงคาน อยากหยุดบรรยากาศแบบนี้ไว้นานๆๆๆๆ

แต่พอมาอ่าน forward email นี้แล้ว ผมค่อนข้างเห็นด้วยกับผู้เขียนบทความนี้ เพราะผมเองก็เคยประสบพบเห็น พบเจอ สถานการณ์เช่นนี้เหมือนกัน ที่ อำเภอปาย เมื่อ 7 ปีที่แล้ว ที่เคยไปเที่ยวที่นั่น และตั้งแต่นั้นมา ผมและภรรยาไม่เคยมีความคิดว่าจะไปที่นั่น อีกเลย  เพราะมันไม่บริสุทธิ์ ผุดผ่องเหมือนอย่างที่คิดเอาไว้ ทั้งๆที่ ผมไปมาเมื่อ 7 ปีที่แล้ว ยิ่งมารับรู้บรรยากาศในปัจจุบันของผู้คนรอบข้างที่ไปสัมผัสที่ ปาย มา ผมยิ่งหดหู่ใจ กับ บรรยากาศที่ต้องแย่งอากาศกันหายใจในตัวเมืองปาย ธรรมชาติที่ถูกทำลายด้วยการสร้างรีสอร์ตบ้านพัก และความมักง่ายของนักท่องเที่ยวบางคน

หรือแม้แต่ที่ อำเภอด่านซ้าย  ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน ผมก็เลิกไปถ่ายภาพแล้ว ทั้งๆ ที่ตลอดระยะเวลา 11 ปีมานี้ผมไปงานนี้มาตลอด

ทำไมหรือครับ ก็คงเป็นเหตุผลคล้ายๆ กัน คือ มันไม่บริสุทธิ์แล้ว ประเพณีอันงดงาม น่ารัก มันหายไปแล้ว บ้านเรือนที่ทำจากไม้สัก ประตูไม้แบบบานเฟี้ยม ถูกแทนทีด้วยอาคารพาณิชย์ ตลาดเทศบาลสุดคลาสิค ถูกแทนที่ด้วยอาคารตลาดแบบคอนกรีตสมัยใหม่ บรรยากาศตลาดเช้าที่ค่อยๆ หายไปตามกาลเวลา และตามกระแสวัตถุนิยม บริโภคนิยม

สำหรับการเดินทางผ่านเลนส์ในวันนี้ ถึงแม้จะไม่ได้นำเสนอผ่านเลนส์ของกล้องถ่ายภาพ แต่ขอเสนอผ่านเลนส์ของแว่นสายตา (สั้นขนาด 400 ก่าๆ) ของผม แทนล่ะกันครับ

บทความที่ว่านี้ เป็นบทความของ วิชัย ตัน ซึ่งเป็นนามปากกาของคุณวิชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ นักวิชาการสิ่งแวดล้อม และสื่อสารมวลชนที่มีชื่อ และที่มีเลือดเหลืองแดงเหมือนกันกับผมด้วยยยยยยย

 

บทความนี้ เข้าใจว่า น่าจะตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 20 มค. 54 (น่าจะใช่นะครับ เพราะใน forward mail และที่ pantip.com ลงไว้เช่นนั้น)

และเพื่อให้ได้อรรถรสในการอ่าน ขออนุญาตนำบทความทั้งหมดมาลงให้อ่านกันครับ

ขอเริ่มกันเลยนะครับ

***********************************************************

“พี่ช่วยบอกนักท่องเที่ยวจากเมืองกรุงด้วยนะว่า อย่าไปเลยเชียงคาน ”

คำพูดนี้ เพื่อนรุ่นน้องคนหนึ่งที่มีบ้านเกิดในอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย บ่นดัง ๆให้ฟังเมื่อหลายวันก่อน


หลายปีก่อน ผู้เขียนเคยไปเที่ยวเชียงคานกับเพื่อนคนนี้ที่มีบ้านอยู่ริมแม่น้ำโขง

ตื่นแต่เช้าไปเดินเล่นตลาด รถราไม่พลุกพล่าน แทบจะไม่มีนักท่องเที่ยว เราเดินไปตามถนนเล็ก ๆเรียบแม่น้ำ เห็นความเงียบสงบ บ้านเรือนเก่าที่คงเอกลักษณ์ แวะชิมอาหาร ตามด้วยกาแฟกับปาท่องโก๋ ไปเที่ยวชมวัด

ผู้เขียนยังแนะนำกับเพื่อนเลยว่า น่าจะหาซื้อที่ดินสักแปลงมาลงทุนสร้างเกสต์เฮ้าท์เล็ก ๆ น่ารัก ๆ เพราะเชื่อว่าอีกไม่นานเมืองเก่าเล็ก ๆ น่าจะเป็นเมืองท่องเที่ยวแบบเมืองปาย ไม่กี่ปีผ่านไป

พอเมืองปายเริ่มเสื่อมมนต์ขลัง เชียงคานก็ดังขึ้นตามคำทำนาย เมืองริมโขงได้รับการโปรโมทจากสื่อท่องเที่ยวจำนวนมาก ให้กลายเป็นดินแดนขวัญใจของนักท่องเที่ยวหนุ่มสาว ตามสูตรของเมืองโรแมนติก

บ้านเก่าหรือตึกแถวทรงคลาสสิก ผู้คนมีวิถีชีวิตเรียบง่าย ถนนคนเดินเล่นสองข้างทางเป็นร้านค้าแต่งแบบย้อยยุค บรรยากาศสงบ ทางเดินเลียบแม่น้ำ อากาศเย็นสบาย

โดยปรกติวันเสาร์อาทิตย์ ก็จะมีนักท่องเที่ยวหลายพันคนแห่กันมาเที่ยวเป็นประจำ แต่หากมีเทศกาลวันหยุดติดต่อกันหลายวันเมืองเชียงคานก็แทบจะแตก ล้นทะลักด้วยกองทัพนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา

ถามคนเชียงคาน (ดั้งเดิม) หรือยังว่าต้องการแบบนี้หรือไม่

ถามคนเชียงคาน (ดั้งเดิม) หรือยังว่าต้องการแบบนี้หรือไม่

แรก ๆ คนเชียงคานก็ดีใจที่นักท่องเที่ยวมาก่อให้เกิดรายได้ บ้านที่อยู่อาศัยก็ดัดแปลงเป็นเกสต์เฮ้าท์ ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านขายของที่ระลึก แต่พอนักท่องเที่ยวมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็ชักไม่ไหว

“นักท่องเที่ยวหลายคน อยู่ดี ๆ ก็เดินขึ้นบ้านไม่ถอดรองเท้า อย่างไม่เกรงใจ คงนึกว่าบ้านเราเป็นสถานที่ท่องเที่ยว นั่งดูทีวีอยู่ดี ๆ ก็มีคนเดินเข้าเดินออกตลอด มันไม่มีความเป็นส่วนตัว และมักจะได้ยินเสียงตามหลังมาว่า ดูแล้วไม่เห็นมีอะไรเลย”

เพื่อนเชียงคานเล่าให้ฟัง

“บางคนถามว่าทำไมไม่มีเซเว่นฯ ทำไมร้านอาหารมีไม่พอ บางคนหงุดหงิดเพราะรอนาน บางคนมาพักโฮมสเตย์ติดแม่น้ำโขง ก็จะขอห้องแอร์ บางเวลารถของเราก็เอามาจอดหน้าบ้านเหมือนเดิมไม่ได้

เพราะมีการปิดถนนให้คนเดิน และรถของนักท่องเที่ยวก็ทำให้เด็กนักเรียน หรือชาวบ้านได้รับอุบัติเหตุมากขึ้น ถูกชนถูกเฉี่ยวเป็นประจำ ”

“วิถีชีวิตของคนเชียงคานที่รักสงบ ความเป็นอยู่ต่าง ๆ เปลี่ยนไป เช่น การนอนเคยนอนตั้งแต่หัวคำ ต้องการพักผ่อนก็ไม่ได้นอน พอตกดึก บ้านเมืองที่เคยเงียบสงบ ก็กระหึ่มไปด้วยเสียงเพลงจากร้านคาราโอเกะ หรือเปิดเพลงดังสนั่นในรถส่วนตัวให้คนได้ดิ้นกันหรือตั้งวงก๊งเหล้า เสียงคนเดินกัน เสียงคนเล่นไพ่ แม้เวลากลางวันก็มีเสียงวิ๊ดว๊ายกับการโพสต์ท่าถ่ายรูปของเพื่อนๆ ”

พอเป็นเมืองท่องเที่ยวมีเรื่องของเม็ดเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง ความสัมพันธ์ของคนในบ้านหรือคนข้างบ้านก็เปลี่ยนไป พี่น้องหลายคนทะเลาะกันเรื่องการแบ่งขายที่ดิน เพื่อนบ้านที่เคยรักกันก็หันมาเป็นคู่แข่งทางธุรกิจ ว่าใครจะแย่งลูกค้าได้มากกว่า ในขณะเดียวกัน สินค้าในท้องตลาดก็พร้อมใจกันขึ้นราคาแพงกว่า 50%

ปัญหาใหญ่ที่ตามมาอีกก็คือเรื่องขยะ จากเดิมแต่ละบ้านแทบไม่มีขยะเลย แต่เมื่อมีร้านขายของเกิดขึ้นถุงพลาสติก แก้วน้ำ ไม้เสียบลูกชิ้น ถูกทิ้งกันเกลื่อนเมืองไปหมด แม้เทศบาลจะมีรถขยะมาขนแต่ไม่เพียงพอกับปริมาณขยะจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม บรรดาผู้ประกอบการจำนวนมากที่เป็นคนแถวนี้ หรือเป็นคนจากจังหวัดอื่นมาลงทุนค้าขาย ก็ยังยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยว จากเม็ดเงินที่สะพัดอำเภอเล็ก ๆ แห่งนี้วันละหลายล้านบาท

ขณะที่กลุ่มชาวบ้านธรรมดาที่ไม่ได้ค้าขายหรือมีกิจการใด ๆ อยากเรียกร้องเอาความสงบ ความเรียบง่ายกลับคืนมาสู่เชียงคานเหมือนเมื่ออดีตยังเป็นเสียงของคนกลุ่มน้อย

ฟังเพื่อนเล่าให้ฟังแล้ว อดเปรียบเปรยพฤติกรรมการท่องเที่ยวของคนไทยว่า ไม่ต่างจากฝูงตั๊กแตน พอเมื่อได้รับการโหมกระพือข่าวว่ามีสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใดที่ยังใสบริสุทธิ์ ก็จะมีกองทัพนักท่องเที่ยวแห่กันเข้าไปเปิดบริสุทธิ์อย่างไม่ลืมหูลืมตา พอเที่ยวอย่างอิ่มหนำ จนเบื่อแล้ว ก็ถอนตัวกลับ ไม่ต่างจากฝูงตั๊กแตนที่แห่ลงกินไร่ข้าวโพด และทิ้งซากไร่ไว้ดูต่างหน้า

หมดจากเชียงคานแล้ว จะแห่ลงไปที่ไหนต่อ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย วานบอกที

***********************************************************

อ่านบทความแล้วเป็นอย่างไรบ้างครับ ผมเองไม่ใช่ว่าจะมาแอนตี้ ความเจริญ/ความทันสมัย ที่ตามมาจากการท่องเที่ยวนะครับ เพราะถ้ามันลำบากมากมายผมเองก็คงไปม่ายไหว (แก่แล้ว)

แต่นี่ผมว่ามันทันสมัย แต่มันไม่พัฒนาเลย และผมเห็นด้วยกับคุณวิชัยนะครับ เพราะผมไม่อยากให้ชุมชนอื่นๆ ที่หน่วยงานด้านการท่องเที่ยวของรัฐ กำลังจะผลักดันขึ้นมาเป็นไฮไลท์ต่อๆ ไป

มีสภาพเหมือนๆ กับ ที่ อัมพวา - - - > ปาย - - - > เชียงคาน ที่วิถีชีวิตดั้งเดิมของคนในชุมชนเปลี่ยนแปลงไปแล้ววววววว

อ้อ ก่อนที่จะจากกันในเอ็นทรีนี้  จะขอชวนไปชมภาพจากทริปที่ผมได้คุณแม่ไปสักการะพระพุทธรูปโบราณคู่บ้านมาครับ คลิกที่ภาพเลยยยยยย

ขอขอบคุณ

คุณวิชัย ตันติวิทยาพิทักษ์  เจ้าของบทความดีๆ ที่กระตุ้นต่อมสำนึก

คุณ Colly เจ้าของกระทู้ที่ pantip.com

http://www.pantip.com/cafe/blueplanet/topic/E10167249/E10167249.html

นิตยสาร D+ สำหรับภาพประกอบ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น