วันพฤหัสบดีที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

{MBAY12/2} FW: นิตยสารธรรมะใกล้ตัว ฉบับที่ ๐๘๗ พฤหัสบดีที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓


 

From: dharma.at.hand@gmail.com
To: dharma-at-hand@googlegroups.com
Subject: นิตยสารธรรมะใกล้ตัว ฉบับที่ ๐๘๗ พฤหัสบดีที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓
Date: Thu, 4 Feb 2010 01:06:40 +0700

ธรรมะใกล้ตัว

จากใจ บ.ก. ใกล้ตัว - ฉบับที่ ๘๗

E-mailPrintPDF

ตามที่ได้แจ้งไว้ตั้งแต่เมื่อสามฉบับก่อน
ว่าผมตั้งคำถามไว้ที่ Yahoo! รู้รอบ
เพื่อให้คุณๆที่สนใจไปให้คำตอบ
ซึ่งสำหรับคำถามของผมจะไม่เน้นใช้ความรู้
แล้วก็ไม่มีคำตอบที่ถูกที่สุด
เพียงอยากให้ทุกท่านแบ่งปันประสบการณ์
หรือช่วยกันให้คำแนะนำตามมุมมอง
ว่าถ้าจะตรวจสอบตนเองในสถานการณ์หนึ่งๆ
ต้องทำอย่างไรถึงจะรู้ได้ว่าเรากำลังใช้อารมณ์
หรือว่าใช้เหตุผลนำหน้ากันแน่

คำตอบที่ได้มาทั้งหมดอยู่ที่นี่ครับ
ขณะเขียน จากใจ บ.ก. ใกล้ตัว อยู่นี้
มีคำตอบอยู่ที่ ๑๐๒

คนเราเอาอารมณ์ชอบชังขึ้นหน้า
แล้วค่อยใช้เหตุผลมาสนับสนุน
เหตุผลอันเป็นฝักฝ่ายสติปัญญา
จึงเป็นรองอารมณ์อันเป็นฝักฝ่ายความโง่เขลา
ความเดือดร้อนวุ่นวายจึงมักมีให้เห็นมากกว่าความสงบสุข

หลักง่ายๆคือถ้ารับใช้อารมณ์ครั้งหนึ่ง
เราจะค่อยๆเขยิบเข้าสู่ความเป็นทาสของอารมณ์ไปก้าวหนึ่ง
เช่น ทุ่มเถียงกับคนโง่ ทั้งรู้อยู่ว่าเขาพูดโง่ๆตามอารมณ์
ก็คือยอมเข้าไปมีส่วนเป็นคนโง่ทางอารมณ์ เหมือนติดเชื้อโรค
จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณเสียจิตให้กับความโง่แค่ไหน

ผมจะไม่แกล้งพูดชมคำตอบของพวกคุณ "ดีหมด"
แต่ขอบอกตามตรงว่าหลังจากอ่านทุกคำตอบแล้ว
ผมได้คำตอบดีๆรวมกัน "ครบทั้งหมด"
พูดง่ายๆคือถ้าใครอ่านคำตอบทั้งหมดเหมือนผม
ก็จะได้รับคุณค่าจากคำตอบโดยรวม
ไม่ใช่เอาคำตอบใดคำตอบหนึ่งเป็นหลักยึดโดยเฉพาะ

อย่างไรก็ตาม เป็นหน้าที่ของผมที่จะต้องเลือกคำตอบดีที่สุด
ในที่นี้ขอชี้แจงว่าจากมุมมองของผม
คำตอบที่ดีที่สุดไม่มี มีแต่ที่ประทับใจที่สุด
ทำให้ผมเกิดความรู้สึกชอบใจที่สุด
ด้วยเกณฑ์ที่ใช้ตัดสินส่วนตัวดังนี้

๑) ทำให้ผมรู้สึกว่าเห็นด้วยเต็มที่ หรืออย่างน้อยก็คล้อยตามทันที
๒) ยกระดับมุมมองของผมได้ หรือถ้าเปลี่ยนใจผมได้ยิ่งเด็ด
๓) ภาษามีพลังสื่อสาร หรืออย่างน้อยต้องมีหนึ่งคำคมโดนใจให้จดจำ

ด้วยเกณฑ์ที่ใชัตัดสินเป็นการส่วนตัวข้างต้น
ผม "ชอบ" และ "ประทับใจ" คำตอบของคุณ ksimplify ที่สุด
โดยคุณ ksimplify กล่าวไว้สั้นๆว่า

อารมณ์ เป็น Wave
ความรู้สึก เป็น Trend
เหตุผล เป็น Fundamental

ผมชอบอะไรแบบนี้
ดูเผินๆเหมือนนี่ไม่ใช่คำตอบ
แต่กลับทำให้ผมขบคิด แล้วรู้สึกว่ามันนำไปสู่คำตอบ
เพราะเมื่อ "เห็นภาพ" ตามได้ชัดแล้ว
ก็พาไปสู่จุดสรุปรวมที่ใช้ตัดสินได้ว่า
"เรากำลังใช้อารมณ์หรือว่าเหตุผลในการเผชิญหน้ากับสถานการณ์หนึ่งๆ"

คำของคุณ ksimplify ที่กระทบใจผม
(ซึ่งอาจกระทบหรือไม่กระทบใจคนอื่นในแบบเดียวกัน)
"อารมณ์" เป็นสิ่งที่ขึ้นๆลงๆ โยกไปโยนมาไม่แน่นอน
ทำนองเดียวกับลมแล้งและแสงแดด
ยังไปหาแก่นสารอะไรเอาความแน่นอนกับมันไม่ได้
หมายความว่าถ้าเรากำลังใช้อารมณ์
ในภายหลังเราอาจเปลี่ยนใจ เปลี่ยนความรู้สึก
หรือกระทั่งอยากเข้าไปแก้ไขเสียใหม่

สำหรับ "เหตุผล" จะเป็นสิ่งที่แน่นอนกว่านั้น
เพราะการตัดสินใจหรือการโต้ตอบ
จะยืนอยู่บนพื้นฐานที่หนักแน่น มีองค์ประกอบครบและชัด
หมายความว่าถ้าเราใช้เหตุผล
ถึงแม้จะอีกนานเพียงใด ก็ต้องเห็นว่ามันควรเป็นไปอย่างนั้น
ในเมื่อองค์ประกอบและกลไกของเหตุการณ์ทั้งหมด
มันฟ้องอยู่ว่าผลที่ควรเกิดขึ้นน่าจะเป็นอย่างไร

และโดยความเป็นมนุษย์
ไม่ว่าจะใช้อารมณ์อันหยาบหรือประณีต
เหตุผลที่อ่อนหรือที่ดีที่สุดก็ตาม
ในที่สุดมันจะรวมลงเป็น "ความรู้สึก"
ความรู้สึกสุดท้ายก่อนตัดสินใจของคนเรา
จะเป็นแนวโน้มว่าจะเกิดอะไรขึ้นจากเรา
มันอยู่ตรงกลางระหว่างอารมณ์กับเหตุผล
หรือกล่าวได้ว่าอารมณ์และเหตุผลทำงานร่วมกัน
ได้เป็นความรู้สึกว่าอยากตัดสินใจ หรืออยากทำอะไรนั่นเอง

แม้คำตอบของคุณ ksimplify จะโดนใจผมที่สุด
แต่ก็ไม่ใช่คำตอบที่สมบูรณ์
จำเป็นต้องอาศัยคำตอบของท่านอื่นๆที่เหลือ
มาช่วยให้เกิดความเข้าใจ
ซึ่งจาก ๑๐๒ คำตอบทั้งหมด
เราจะตัดสินได้ว่ากำลังใช้อารมณ์หรือเหตุผลจาก ๔ ข้อสรุปใหญ่ดังนี้

๑) การคำนึงถึงผลลัพธ์
คุณ Jetboat กล่าวไว้สั้นๆแต่ชัดเจนว่า
ก่อนทำอะไร ถ้าใช้เหตุผลก็คงค่อยๆคิด
ค่อยๆนึกแบบตรรกะขั้นบันไดเสียก่อนจะลงมือ
แต่ถ้าใช้อารมณ์นำหน้า 
ในหัวคงนึกแค่ผลลัพธ์แล้วลงมือทำไปเลย

ส่วนคุณ maytha k กล่าวไว้น่าฟังในความเห็นถัดมาว่า
เมื่อไหร่ที่เราจะเอาแต่ผลลัพธ์ให้มันเกิดขึ้นอย่างใจ
พูดง่ายๆว่าจะเอาแต่ใจฉันล่ะ
แสดงว่าเรากำลังใช้อารมณ์เป็นตัวนำ
แต่ถ้าเรามองกระบวนการที่ทำให้เกิดผลลัพธ์อย่างมีที่มาที่ไป
แปลว่าเรากำลังใช้เหตุผลเป็นตัวนำอยู่

สรุปคือถ้าจะเอาผลลัพธ์แบบไม่ต้องตริตรอง
ว่าจะเอามาอย่างไรให้เหมาะสม
ก็เรียกว่าใช้อารมณ์ ไม่ใช่ใช้เหตุผล
ข้อนี้เรายังไม่พูดกันเรื่องผิดเรื่องถูกนะครับ
บางคนใช้อารมณ์ในการเอาชนะเพื่อปกป้องความยุติธรรม
ในขณะที่บางคนใช้เหตุผลในการเอาชนะเพื่อเอาเข้าตัวก็ได้

๒) การปล่อยให้อคติ ๔ ครอบงำ
คุณ Manoch P กล่าวไว้ในตอนต้นได้เข้าเป้า คือ
การทำอะไรโดยมีความรักนำหน้า
การทำอะไรโดยมีความชังนำหน้า
การทำอะไรโดยมีความโลภนำหน้า
การทำอะไรโดยมีความโกรธนำหน้า
การทำอะไรโดยมีความหลงนำหน้า
นับว่าเป็นการใช้อารมณ์ทั้งสิ้น

อันนี้ผมนำมาต่อได้ติดกับเรื่องของอคติ ๔
อคตินี่นะครับ แปลว่า ไม่ควรเดิน ไม่ควรไป ไม่ควรประพฤติ
ภาษาไทยหมายถึงความลำเอียง ความไม่เที่ยงธรรม ความไม่ยุติธรรม
พระพุทธเจ้าตรัสถึง "อคติ ๔" โดยฐานะอันไม่พึงถึง
หรือหนทางไปสู่ความประพฤติที่ผิด
กล่าวคือลำเอียงเพราะรัก ลำเอียงเพราะเกลียด
ลำเอียงเพราะเขลาหรือโง่หลงงมงาย
และลำเอียงเพราะกลัวหรือเพราะเกรงใจ

ถ้ามีความลำเอียง ๔ ประการอยู่นี้แล้วตัดสินใจกระทำการ
ความวิบัติย่อมเข้ามาถึงตน หรือเข้าสู่สังคมโดยรวม
ยิ่งเห็นโลกนี้นานขึ้นเท่าไร ผมยิ่งเห็นความจริงนี้มากขึ้นเท่านั้น
สงครามล้างเผ่าพันธุ์ส่วนใหญ่เกิดขึ้นเพราะความเกลียดอันดำมืด
หาใช่ด้วยการมีเหตุผลอันสว่างหรือทำให้เกิดความกระจ่างชัด

๓) การมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าเป็นไปเพื่ออะไร
มีหลายท่านตอบไว้ตรงประเด็นนี้
แต่คุณ tortuga เรียบเรียงคำไว้ค่อนข้างครบในที่เดียว นั่นคือ
ถ้าคิดถึงจิตใจหรือประโยชน์ของคนอื่นก่อน 
มักจะเป็นการคิดด้วยเหตุผล 
แต่ถ้าทำเพื่อสนองกิเลสหรือประโยชน์ของตัวเองก่อน
มักจะเป็นการใช้อารมณ์

อันนี้ชวนให้คิดได้ครอบคลุมไปทุกเรื่องครับ
อย่างเช่นเวลาเกิดเรื่องให้แบ่งฝักแบ่งฝ่าย
คนเรามักใช้อารมณ์หรือศรัทธาเป็นตัวตัดสินก่อนว่าจะอยู่ข้างไหน
เสร็จแล้วจึงงัดเอาเหตุผลมาตามแต่จะนึกได้
เพื่อประกาศศักดาว่าตนถูก และเหยียบย่ำฝ่ายตรงข้ามว่าผิด
ไม่ว่าจะเป็นการเมืองหรือการศาสนา ล้วนเข้าอีหรอบเดียวกันหมด

๔) อาการทางกายและทางใจ
หลายท่านกล่าวถึงประสบการณ์ทางกายเฉพาะตน
ซึ่งถ้าอ่านทั่วๆแล้วก็พลอยเกิดแง่มุมมองร่วมกันได้หลากหลาย
แต่คุณ kusuma ใช้คำได้เห็นภาพเป็นพิเศษ คือ
สังเกตที่ใจ การใช้อารมณ์นำหน้าเพื่อคิด พูด หรือทำอะไร
ใจจะมีอาการเหมือนดับเครื่องชน ไม่รู้เนื้อรู้ตัว ไม่รู้ที่มาที่ไปทั้งสิ้น
ว่ากำลังทำไปด้วยสาเหตุอะไรและมีจุดประสงค์เพื่ออะไร
รู้เพียงแต่ว่าใจมีแรงผลักดันให้พุ่งไปทำ และต้องทำให้ตามใจเท่านั้น
ส่วนการใช้เหตุผลนำ ใจจะมีอาการตรงกันข้าม
คือสามารถตอบคำถามกับตัวเองได้อย่างสมเหตุสมผล

เป็นอย่างที่คุณ kusuma ว่าจริงๆครับ
อาการดับเครื่องชน หรืออยากดับเครื่องชนนั้น
เป็นกันหมดตอนโลภจัด โกรธจัด หรือหลงผิดจัดๆ
และไม่ต้องการคำอธิบายใดๆทั้งสิ้น ไม่ว่าโวหารจะสวยหรูขนาดไหน
ส่วนอาการที่อธิบายตนเองได้นั้น เยือกเย็นพอจะรับฟัง
แม้ถ้อยคำที่เรียบง่ายที่สุด ตรงกับข้อเท็จจริงและความเหมาะสมที่สุด

นอกจากนั้น ๔ ข้อหลักที่ทุกท่านกล่าวมา
ผมขอเพิ่มเติมเข้าไปอีกข้อหนึ่ง
คือ ความเชื่อ หรือ ศรัทธา
คนเรามีความเชื่อที่ปราศจากเหตุผล
ตลอดจนความเชื่อที่ประกอบด้วยหลักฐานอยู่ในตัว

หากมีความเชื่อที่ปราศจากเหตุผลอยู่ในตัวมาก
เราก็มีแนวโน้มที่จะทำอะไรตามอารมณ์เป็นส่วนใหญ่
แต่หากมีความเชื่อที่ประกอบพร้อมด้วยหลักฐานอยู่ในตัวมาก
เราก็มีแนวโน้มจะทำอะไรด้วยเหตุผลเป็นประจำ

มนุษย์ที่ยังต้องทำมาหากินครองเรือน
ควรใช้อารมณ์ได้อย่างมีเหตุผล
เหมือนเช่นที่ศิลปินต้องเรียนรู้
ที่จะให้ความแรงของอารมณ์เป็นตัวละเลงสี
นักดนตรีต้องเรียนรู้ที่จะให้ความฝันเป็นตัวสร้างคำร้องและทำนอง
ถ้าเหตุผลคือการทำงานศิลปะและการดนตรีให้เป็นเลิศ
ก็ต้องเข้าใจจะเล่นแร่แปรธาตุกับอารมณ์ทุกชนิดเป็นสินค้าใหม่ๆ

ส่วนมนุษย์ที่สละเรือนหวังความหลุดพ้นจากปวงทุกข์
ต้องมีเหตุผลแบบพระพุทธเจ้า หรือเยี่ยงเหล่าอริยบุคคลเป็นหลัก
ไม่ใช้ชีวิตตามอารมณ์ แม้กระทั่งอารมณ์หลงอยากยึดติดในกาย
ก็ต้องทิ้งให้หมดด้วยการพิจารณาตามจริงว่ากายนี้โสโครก
ไม่น่ารักน่าเอาเหมือนอย่างที่มนุษย์ผู้ยังครองเรือนหลงติดกัน

แต่ละคนมีเหตุผลต่างกัน เพราะเห็นต่างมุมมองกัน
ถ้าไม่ใช้อารมณ์นำหน้าเสียอย่างเดียว
ผลของความต่างกันก็คือ
ต่างฝ่ายต่างเป็นองค์ประกอบของสันติภาพ
ทว่าถ้าแต่ละคนมีเหตุผลแสนดี
แล้วใช้อารมณ์ตัดสินว่าฉันเลิศสุด คนอื่นด้อยกว่าหมด
ผลของความต่างกันก็คือ
ต่างฝ่ายต่างเป็นองค์ประกอบของสงคราม
อย่างที่เคยมีมา อย่างที่กำลังเป็นอยู่ 
และอย่างที่กำลังจะเป็นไปนั่นเองครับ

ดังตฤณ
กุมภาพันธ์ ๕๓

----------------------------------

เรื่องน่าสนใจประจำฉบับ

สองสิ่งที่ทุกคนสำคัญผิดว่าเป็น "เรา" ก็คือกายและใจ
จะมีวิธีการภาวนาอย่างไร ที่ทำให้เห็นว่าสองสิ่งนี้ "ไม่ใช่เรา" ได้
พบคำตอบได้ใน "ธรรมะจากพระผู้รู้" ฉบับนี้ค่ะ _/|\_

คอลัมน์ "พาเที่ยวเอี่ยวธรรม" ฉบับนี้
"คุณดาวชล" จะพาทุกท่านไปผจญภัยกับสัตว์โลกล้านปี อย่างไดโนเสาร์กันค่ะ
แม้พวกเขาจะจากไปนานแล้ว
แต่ก็ได้ฝากธรรมะไว้ให้เราได้เห็นกันอยู่จนถึงทุกวันนี้
ธรรมะที่ว่านั้นคืออะไร เชิญค้นหากันได้
ในตอน "ตะลอนกาฬสินธุ์ ถิ่นไดโนเสาร์" ค่าาา ... ^o^/

ความซื่อสัตย์ นับเป็นคุณธรรมพื้นฐานสำหรับงานในทุกสาขาอาชีพ
จะเกิดอะไรขึ้น หากในโลกนี้มีผลไม้ที่ใช้ทดสอบความซื่อสัตย์ของมนุษย์ได้?!
คอลัมน์ "ยารักษาใจ" ฉบับนี้ อ่านเรื่องน่ารักแฝงวาทะน่าคิดจาก "คุณวิลาศินี" อีกเช่นเคย
ในตอน "ผลไม้ของความซื่อสัตย์" ค่ะ (^^,)

เหตุการณ์ร้ายๆ ที่เกิดขึ้นกับชีวิต อาจเป็นเรื่องไม่น่าปรารถนาสำหรับคนทั่วไป
แต่หากมองในมุมกลับ หลายครั้ง ชีวิตก็ได้เรียนรู้มากมายจากเหตุการณ์ร้ายเหล่านี้
เช่นเดียวกับที่คุณ "คุณสิริธร" ได้เรียนรู้ค่ะ ^_^
เรื่องราวของเธอจะเป็นอย่างไร ติดตามได้ที่คอลัมน์ "สัพเพเหระธรรม"
ในตอน "สิ่งที่ฉันเพิ่งรู้" ค่ะ

------------------

ข่าวสารและกิจกรรมที่น่าสนใจ

·         มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ร่วมกับชมรมกัลยาณธรรม
ขอเชิญผู้สนใจ เข้าร่วมฟังการบรรยายธรรม
เนื่องในงานแสดงธรรม-ปฏิบัติธรรมเป็นธรรมทาน ครั้งที่ ๑๖
เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ผู้สนใจกรุณาแจ้งขอลงทะเบียนล่วงหน้า ภายในวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์นี้
ตรวจสอบวิธีการลงทะเบียนและดูกำหนดการบรรยายได้ที่นี่ค่ะ
http://www.kanlayanatam.com/index_.htm

·         สภากาชาดไทยเชิญชวนคนไทยร่วมทำความดีบริจาคโลหิต
ในโครงการประชาชนชาวไทย ทำความดีบริจาคโลหิตถวายพ่อของแผ่นดินเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๔ พรรษา ตั้งแต่ปี ๒๕๕๓-๒๕๕๔
รณรงค์ให้ประชาชนบริจาคโลหิตเป็นประจำทุก ๓ เดือน
ซึ่งจะทำให้มีปริมาณโลหิตที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และเพียงพอต่อความต้องการของผู้ป่วยทั่วประเทศ ^_^
ผู้สนใจ สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ค่ะ
http://www.redcross.or.th/pr/pr_news.php?db=1&nsid=4928

 

• • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • •

พบกันใหม่พฤหัสหน้า
ที่
 http://www.dlitemag.com นะคะ
สวัสดีค่ะ
 (^^)


Website
นิตยสารธรรมะใกล้ตัว

http://www.dharmamag.com

 

สารบัญ ฉบับล่าสุด

·         จากใจ บ.ก. ใกล้ตัว

·         ธรรมะจากพระผู้รู้

·         ไดอารี่หมอดู

·         ดังตฤณวิสัชนา ฉบับเปิดกรุ

·         ยารักษาใจ

·         ธนาคารความสุข

·         เรื่องสั้นอิงธรรมะ

·         พาเที่ยว เอี่ยวธรรม

 



__________ Information from ESET Smart Security, version of virus signature database 4830 (20100203) __________

The message was checked by ESET Smart Security.

http://www.eset.com


Hotmail: Powerful Free email with security by Microsoft. Get it now.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น